17 มกราคม 2563 นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยถึงการลงนามสัญญาจัดทำ “โครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร” ร่วมกับ กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย ว่า การดำเนินงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องที่สำคัญในการยกระดับงานบริการด้านระบบไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
ตอบสนองวิถีชีวิตและการใช้เทคโนโลยีในเมืองหลวง โดย MEA ได้วางระบบ Smart Metro Grid โครงข่ายสำหรับการส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 1,149 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งการดำเนินงานประกอบด้วย การติดตั้ง smart meter และการใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบได้แบบสองทาง (two-way communication) มีคุณสมบัติในการ monitor และแสดงผลได้ทันที (real time) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังตรวจสอบการลักลอบใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ข้อมูลที่ละเอียดและเที่ยงตรงจาก smart meter จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าระบบไฟฟ้าอาจจะมีปัญหาที่พื้นที่ใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนำมาใช้ในการวางแผนระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าในอนาคตที่มีความซับซ้อน และสอดรับกับแผนพัฒนา smart city ของรัฐบาล
ที่ผ่านมาทาง MEA ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ได้ดำเนินการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้ล้ำสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อพัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบงานต่าง ๆ ที่ใช้ภายใน MEA ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีความแม่นยำด้านข้อมูล และสามารถตรวจสอบได้ทันที โดย MEA ได้ตั้งเป้าหมายในการเริ่มใช้ระบบ smart meter ไว้ที่ 33,265 ชุด ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA โดยการติดตั้งดังกล่าวผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการใช้พลังงานไฟฟ้าของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการประเมินผลการใช้งาน ก่อนจะขยายการติดตั้ง smart meter ให้ครอบคลุมพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การจัดทำระบบ Smart Metro Grid จะทำให้ MEA เป็นระบบดิจิทัลไลฟ์มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในยุคประเทศไทย 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะที่ระบบ Smart Metro Grid นอกเหนือจากการช่วยบริหารจัดการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบแล้ว หลักสำคัญคือจากระบบนี้หากเกิดเหตุขัดข้อง MEA สามารถรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทันที และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบเดิมที่ต้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้แจ้งเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความสะดวก และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งระบบ Smart Metro Grid ยังเป็นการสื่อสารข้อมูลแบบสองทางทั้งรับและส่ง ที่ MEA สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมธุรกิจบริการที่ทันสมัยต่างๆ ให้แก่ประชาชนได้ในอนาคต