เทรนด์รถไฟฟ้า EV Car: บทเรียนจากญี่ปุ่น Part 1


By เกตุวดี Marumura

รถยนต์ไฟฟ้าทางเลือกใหม่ที่ดี นำมาสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะประเทศผู้นำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น สู่การจับตามองจากทั่วโลก และบทเรียนที่น่าเรียนรู้สำหรับประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ยังมีบางประเด็นที่ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนต้องให้ความใส่ใจ

9 ปีก่อน… “โตโยต้า พรีอุส” กลายเป็นรถไฮบริดรุ่นแรกของโลกที่สามารถผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ กล่าวคือผลิตขายปริมาณมาก ๆ ได้

จุดเริ่มต้นของรถไฮบริดรุ่นนี้ จริง ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1975 หลังจากทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำมันในช่วงปี ค.ศ. 1973 แต่กว่าโตโยต้าจะผลิตเครื่องยนต์พิเศษที่ประหยัดน้ำมันได้จริงนั้น ก็ล่วงเข้าช่วงปี ค.ศ.  1980 แต่เครื่องยนต์ยังดีไม่พอ เมื่อเข้าช่วงปี ค.ศ. 1993 โตโยต้าผลิตรถต้นแบบสำเร็จ แต่คาดว่ายังเร็วเกินกว่าความต้องการของตลาดในยุคนั้น (และราคายังสูงอยู่มาก)  กว่ารถพรีอุสจะคลอดสู่ตลาดผู้บริโภค โตโยต้าต้องอดทนรอจนถึงปี ค.ศ. 1997

ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ที่ซื้อรถไฮบริดจำนวนรถไฮบริดเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี ค.ศ. 2016 รถไฮบริดมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ร้อยละ 9.1 แล้ว

ขณะที่ความพยายามของโตโยต้ากว่าสามสิบปีกำลังจะเริ่มผลิดอกออกผล บริษัทก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่… การเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) นั่นเอง


เครดิตภาพ : EV World

การปรับตัวของค่ายรถญี่ปุ่น

โตโยต้าต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งใหญ่… จะทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดต่อไป หรือจะหันมาพัฒนา EV เพื่อไล่ตามค่ายรถใหญ่ ๆ ในอเมริกาและยุโรป

ขณะที่โตโยต้าและฮอนด้ามัวแต่ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดนั้น นิสสันก็หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและสามารถจำหน่าย Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองได้ในปี ค.ศ. 2010 และมุ่งมั่นผลิตรถ EV เพื่อเจาะตลาดต่อไป

เมื่อเห็นกระแสค่ายรถทั่วโลกหันไปทาง EV มากขึ้น ในที่สุด ในปี ค.ศ. 2015 โตโยต้าตัดสินใจจับมือร่วมกับมาสด้าเพื่อพัฒนารถ EV อย่างจริงจัง และในปีนี้ ทั้งสองบริษัทก็ประกาศร่วมทุนสร้างรถพลังไฟฟ้าด้วยกัน

กระแสรถ EV ในญี่ปุ่น

ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นยังมีจำนวนแค่ 6 หมื่นกว่าคัน หรือประมาณ ร้อยละ 0.1 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2016 จาก ischool) ประชาชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงลังเลและรอศึกษาข้อมูลต่อไปเรื่อย ๆ

ฝั่งรัฐบาลเองก็ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าสนับสนุนรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เนื่องจากในปี ค.ศ. 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงในสนธิสัญญาปารีสว่า จะลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจกอีกร้อยละ 26 ภายในปี ค.ศ. 2030 นี้ การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยลดปรากฏการณ์โลกร้อนได้

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น

  1. มอบเงินสนับสนุน
    ซึ่งทำมาตั้งแต่การสนับสนุนรถไฮบริด โดยจ่ายเงินสนับสนุนประมาณ 4 แสนเยน (1.5 แสนบาท) แก่ผู้ซื้อรถไฟฟ้า (จำนวนเงินอาจแตกต่างไปตามรุ่น)
  1. รัฐบาลท้องถิ่นก็ร่วมด้วย
    นอกจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ในบางเขต รัฐบาลท้องถิ่นยังมอบเงินสนับสนุนให้อีก 5 หมื่นเยน
  1. ลดภาษี
    ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า จะได้ลดภาษีรถยนต์ไปอีกประมาณ 1.2 แสนเยน

แม้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะยังค่อนข้างสูงอยู่ (ประมาณ 3 ล้านกว่าเยน) แต่ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล และคุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิง รถยนต์ไฟฟ้าควรเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับประชาชนญี่ปุ่น แต่… ผู้บริโภคก็ยังกลัวที่จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ความกังวลอันดับแรก คือ จะมีที่ชาร์จพอหรือไม่ รถยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้เต็มที่ระยะทางประมาณ 400 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น หากไฟหมด ก็ไม่สามารถวิ่งต่อได้เลย (ต่างจากรถยนต์น้ำมัน ที่เราอาจซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปซื้อน้ำมันมาเติมได้)

ทางรัฐบาลและบริษัทเอกชนญี่ปุ่นก็พยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จไฟ โดยปัจจุบันมีแท่นชาร์จแบบด่วนอยู่ 7,100 แห่ง และสถานีชาร์จแบบปกติกว่า 2.8 หมื่นแห่ง ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนของสถานีบริการน้ำมันเลยทีเดียว

สถาบันวิจัยพลังไฟฟ้าของญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ว่า หากญี่ปุ่นสามารถสร้างสถานีชาร์จไฟได้ทุก 30 กิโลเมตร ผู้ขับขี่ไม่ต้องห่วงปัญหาไฟหมดแน่นอน

หากหารจำนวนสถานีชาร์จกับความยาวของถนนทั้งหมด สถานีชาร์จไฟจะมีทุก 26.5 กิโลเมตร แต่ปัญหาในปัจจุบัน คือ สถานีชาร์จมีให้บริการในเมืองใหญ่ ๆ จำนวนมาก แต่ในจังหวัดเล็ก ๆ จำนวนที่ชาร์จอาจยังไม่ครอบคลุมนัก